ญี่ปุ่นรุก ค.ศ. 1941–1942 ของ สงครามแปซิฟิก

โจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์

ดูบทความหลักที่: การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์
ยูเอสเอส แอริโซนาเกิดเพลิงไหม้เป็นเวลากว่าสองวันหลังจากถูกโจมตีด้วยระเบิดญี่ปุ่น

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (หรือวันที่ 8 ตามเวลาในเอเชีย) ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เช่นเดียวกับเกาะกวมและเกาะเวก ญี่ปุ่นได้โจมตีทางอากาศครั้งใหญ่โดยใช้เครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งส่งผลทำให้เรือประจัญบานของสหรัฐแปดลำไม่สามารถใช้การได้ ญี่ปุ่นได้เสี่ยงดวงว่าสหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างฉับพลัน จะยอมตกลงบรรลุข้อตกลงเจรจาและยินยอมให้ญี่ปุ่นปกครองเอเชียอย่างเสรี แต่การเสี่ยงโชคดังกล่าวไม่เป็นผล ความสูญเสียของสหรัฐนั้นเสียหายน้อยกว่าที่เคยคาดกันไว้มาก เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเรือประจัญบานมาก ยังอยู่ในทะเล สาธารณูปโภคที่สำคัญของกองทัพเรือ (ถังน้ำมันเชื้อเพลิง อู่ต่อเรือและโรงไฟฟ้า) ฐานเรือดำน้ำ และหน่วยข่าวกรองทางสัญญาณไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ยุทธศาสตร์ถอยทัพของญี่ปุ่นต้องอาศัยสงครามบั่นทอนกำลังเพื่อให้สหรัฐยอมรับเงื่อนไขในที่สุด ซึ่งอยู่เหนือขีดความสามารถของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น[11][12]

ขณะที่เกิดการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ขึ้นนั้น สหรัฐอเมริกายังไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามอย่างเป็นทางการกับประเทศใด ๆ ในโลก กลุ่มอเมริกาเฟิร์สท์คอมมิตตีได้คัดค้านการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐอเมริกาในทวีปยุโรปอย่างรุนแรง แม้ว่าสหรัฐจะขายความช่วยเหลือทางทหารต่ออังกฤษและสหภาพโซเวียตผ่านโครงการให้เช่า-ยืม แต่การต่อต้านสงครามในสหรัฐหายไปหลังจากการโจมตีดังกล่าว วันที่ 8 ธันวาคม เนเธอร์แลนด์ประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น[13] ตามมาด้วยออสเตรเลียในวันรุ่งขึ้น[14] สี่วันหลังจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ นาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับสงครามสองด้าน พฤติการณ์ดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นความสัพเพร่าของยุทธศาสตร์หลัก เนื่องจากเยอรมนีสูญเสียประโยชน์ที่ญี่ปุ่นทำให้สหรัฐไขว้เขว และการลดการให้ความช่วยเหลือแก่อังกฤษ ซึ่งทั้งรัฐสภาและฮิตเลอร์ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดช่วงที่ต่างฝ่ายต่างยั่วยุเป็นระยะเวลาปีเศษ

โจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การขยายตัวเป็นลำดับของจักรวรรดิญี่ปุ่น ถึง ค.ศ. 1942

กองทัพอังกฤษ ออสเตรเลียและดัตช์ ซึ่งต้องเสียกำลังพลและทรัพยากรไปกับการทำสงครามกับเยอรมนีเป็นระยะเวลากว่าสองปี และยังพัวพันอย่างหนักในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและที่อื่น ๆ ไม่สามารถจัดเตรียมการป้องกันได้มากไปกว่าการต้านทานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันต่อทหารญี่ปุ่นผู้กรำศึก ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความพ่ายแพ้ถึงขั้นหายนะหลายครั้งในช่วงหกเดือนแรกของสงคราม เรือรบอังกฤษหลักถึงสองลำ เอชเอ็มเอส รีพัลซ์ และเอชเอ็มเอส ปรินส์ออฟเวลส์ ถูกจมในการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่นนอกชายฝั่งมาลายาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1941

ประเทศไทย ซึ่งดินแดนถูกเลือกเป็นสถานที่สำหรับเริ่มต้นการทัพมาลายาเรียบร้อยแล้ว ยอมจำนนภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกญี่ปุ่นรุกราน รัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม

ฮ่องกง คราวน์โคโลนีของอังกฤษ ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม และพ่ายแพ้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยที่กองทัพแคนาดาและอาสาสมัครฮ่องกงมีส่วนสำคัญในการป้องกันดังกล่าว ฐานทัพสหรัฐบนเกาะกวมและเกาะเวกเสียแก่ข้าศึกในเวลาไล่เลี่ยกัน

หลังจากปฏิญญาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1942 (ซึ่งพบการใช้คำว่า "สหประชาชาติ" อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก) รัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรได้แต่งตั้งพลเอกอังกฤษ เซอร์อาร์ชิบาลด์ เวเวลล์ ในกองบัญชาการอเมริกา-บริเตน-ดัตช์-ออสเตรเลีย (ABDACOM) ซึ่งเป็นกองบัญชาการสูงสุดกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวเวลล์มีอำนาจบัญชาการในนามเหนือกองกำลังขนาดใหญ่ แต่ก็กระจัดกระจายอย่างเบาบางเหนือพื้นที่ตั้งแต่พม่าไปจนถึงฟิลิปปินส์และทางเหนือของออสเตรเลีย ส่วนบริเวณอื่น รวมไปถึงอินเดีย ฮาวายและส่วนที่เหลือของออสเตรเลียอยู่ภายใต้การบัญชาการที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม เวเวลล์เดินทางไปยังบันดุงในเกาะชวาเพื่อรับอำนาจบัญชาการ ABDACOM

ในเดือนมกราคม ญี่ปุ่นรุกรานพม่า อินเดียตะวันออกของดัตช์ นิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และยึดกรุงมะนิลา กัวลาลัมเปอร์และราบูล หลังจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถูกขับไล่ออกจากมาลายา ในสิงคโปร์เองก็พยายามที่จะต้านทานการรุกของญี่ปุ่นแต่ต้องยอมจำนนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 และทหารอินเดีย อังกฤษ ออสเตรเลียและดัตช์ตกเป็นเชลยศึกถึงกว่า 130,000 คน[15] อัตราการพิชิตดินแดนของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยบาหลีและติมอร์เสียแก่ข้าศึกในเดือนเดียวกัน การต้านทานของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประสบความล้มเหลวอย่างรวดเร็วนั้นได้ทำให้ "พื้นที่ ABDA" ถูกแยกออกเป็นสอง เวเวลล์ลาออกจาก ABDACOM เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยส่งมอบอำนาจเหนือพื้นที่ ABDA ให้แก่ผู้บัญชาการท้องถิ่นก่อนจะกลับไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในอินเดียต่อไป

การทิ้งระเบิดเมืองดาร์วิน ออสเตรเลีย 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942

ในขณะเดียวกัน เครื่องบินญี่ปุ่นได้เกือบจะกำจัดแสงยานุภาพทางอากาศเกือบทั้งหมดของฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังโจมตีออสเตรเลียตอนเหนือ เริ่มต้นด้วยการโจมตีเมืองดาร์วินซึ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยา (แต่มีความสำคัญทางทหารเพียงเล็กน้อย) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และคร่าชีวิตไปอย่างน้อย 243 คน

ในยุทธนาวีทะเลชวาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ชัยชนะครั้งใหญ่เหนือกองทัพเรือหลักของ ABDA ภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกคาเรล ดอร์แมน การทัพอินเดียตะวันออกของดัตช์ในเวลาต่อมาสิ้นสุดลงด้วยการยอมจำนนของกองทัพสัมพันธมิตรบนเกาะชวาและสุมาตรา

ในเดือนมีนาคมและเมษายน การโจมตีเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียโดยกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นส่งผลให้ซีลอนถูกโจมตีทางอากาศหลายระลอก และเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ เอชเอ็มเอส เฮอร์มีส เช่นเดียวกับเรือสัมพันธมิตรอื่น ๆ ถูกจมลง และกองเรืออังกฤษถูกขับไล่ออกจากมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นการเปิดทางสำหรับการรุกรานพม่าและอินเดียของญี่ปุ่น

ฝ่ายอังกฤษ ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก สู้รบล่าถอยจากย่างกุ้งไปยังชายแดนอินเดีย-พม่า เป็นผลทำให้ถนนสายพม่า อันเป็นเส้นทางเสบียงของฝ่ายสัมพันธมิตรให้แก่กองกำลังชาตินิยมจีน ความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาตินิยมจีนและคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ ลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นถึงขีดสุดในยุทธการอู่ฮั่น และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเลวร้ายลงเมื่อทั้งสองพยายามขยายพื้นที่ปฏิบัติการในดินแดนยึดครองของตนเอง พื้นที่กองโจรชาตินิยมส่วนใหญ่นั้นถูกแย่งชิงโดยคอมมิวนิสต์ ในอีกด้านหนึ่ง กำลังชาตินิยมบางส่วนถูกจัดวางเพื่อขัดขวางพวกคอมมิวนิสต์มิใช่ญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น กำลังชาตินิยมจีนส่วนใหญ่เป็นขุนศึกซึ่งเป็นพันธมิตรกับเจียง ไคเช็ค แต่มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของเขา "ทหารกว่า 1,200,000 นายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจียง มีเพียง 650,000 นายเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงจากนายพลของเขา ส่วนอีก 550,000 นายนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของขุนศึกซึ่งอ้างความจงรักภักดีต่อรัฐบาลเท่านั้น กำลังที่เข้มแข็งที่สุดนั้นเป็นของเซอชวน ที่มีทหารอยู่ถึง 320,000 นาย ความพ่ายแพ้ของกองทัพนี้จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจอย่างใหญ่หลวงของเจียง"[16] ฝ่ายญี่ปุ่นแสวงหาประโยชน์จากความขาดความสามัคคีนี้และกระหน่ำโจมตีหนักยิ่งขึ้นไปอีก

กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกายังคงทำการรบต้านทานอยู่ในฟิลิปปินส์จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 เมื่อทหารมากกว่า 80,000 นายได้รับคำสั่งให้ยอมจำนน เมื่อถึงเวลานี้ พลเอกดักลาส แมกอาเธอร์ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรสูงสุดแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ได้ล่าถอยไปยังออสเตรเลียที่ปลอดภัยกว่า กองทัพเรือสหรัฐ ภายใต้บังคับบัญชาพลเรือเอก เชสเตอร์ นิมิตส์ รับผิดชอบต่อส่วนที่เหลือของมหาสมุทรแปซิฟิก การแบ่งแยกบังคับบัญชาดังกล่าวสร้างผลกระทบไม่ดีต่อสงครามพาณิชย์[17] และตัวสงครามแปซิฟิกด้วยตามลำดับ

คุกคามออสเตรเลีย

ปลาย ค.ศ. 1941 เมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ส่วนใหญ่ของกองทัพที่ดีที่สุดของออสเตรเลียได้รับคำสั่งให้สู้รบกับนาซีเยอรมันในยุทธบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน ออสเตรเลียมีการเตรียมการรับมือกับการโจมตีเลวมาก ขาดแคลนอาวุธยุทธภัณฑ์ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักและเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัย ขณะที่เรียกร้องกำลังเสริมจากเชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรี จอห์น เคอร์ทิน เรียกร้องการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาด้วยแถลงการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1941

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามแปซิฟิก http://www.awm.gov.au/atwar/remembering1942/singap... http://books.google.ca/books?id=SLfti-Dc1AcC&pg=PA... http://worldwar2database.com/html/china.htm http://www.chinfo.navy.mil/navpalib/ships/carriers... http://www.history.navy.mil/faqs/faq81-1.htm http://web.archive.org/web/20070612040835/http://w... http://www.ibiblio.org/hyperwar/PTO/IMTFE/IMTFE-5a... http://www.ibiblio.org/pha/ http://www.ibiblio.org/pha/policy/1941/411208c.htm... http://www.ibiblio.org/pha/timeline/411209awp.html